รวมทุกประเด็นสำคัญจากงาน AWS Summit 2024

รวมทุกประเด็นสำคัญจากงาน AWS Summit 2024 image

 

 

บทความนี้รวมทุกสาระสำคัญในงาน AWS Summit 2024 มหกรรมงานด้าน Cloud Computing ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค  โดย Deeploy จะพาทุกคนไปสัมผัสกับไฮไลท์สำคัญจากงาน

 

 

 

 

6 ประเด็นน่าสนใจจากงาน AWS Summit 2024

  • 1.Generative AI for decision-makers
  • 2.Building AWS news summary apps in your local language
  • 3.Which AWS Certification should I take? How to choose a pathway
  • 4.AWS card clash
  • 5.ASK AN EXPERT
  • 6.Data Center (in Thailand)

 

 

 

 

1.“Generative AI for decision-makers”

ในปัจจุบัน AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์เป็นโปรแกรมที่มีความสามารถในการเรียนรู้และใช้เหตุผลเหมือนมนุษย์ โดยถูกตั้งค่าและทำงานตามเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนด ตัวอย่างเช่น โปรแกรม chatbot ที่สามารถตอบคำถามตามคำสั่งของผู้ใช้ได้ ขณะที่ Machine Learning (ML) เป็นอัลกอริทึมที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยผ่านการสอนหรือแนะนำข้อมูลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถคาดเดาและให้คำตอบได้ เช่น โปรแกรมจดจำใบหน้าที่เรียนรู้จากรูปภาพ

 

Deep Learning นั้นมีลักษณะคล้ายกับ Machine Learning แต่จะเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์ ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างลึกซึ้งและแม่นยำยิ่งขึ้น ส่วน Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ โดยผสมผสานเทคโนโลยี AI, ML, และ Deep Learning เข้าด้วยกัน สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สมจริงและตรงกับความต้องการ เช่น โปรแกรมที่สามารถแต่งเพลงตามสไตล์ที่กำหนด

 

AWS (Amazon Web Services) ได้พัฒนา Generative AI ที่มีบริการสองรูปแบบคือ Bedrock ซึ่งใช้ข้อมูลทั่วไปที่มีใน AWS Model และ SageMaker ซึ่งใช้ข้อมูลเฉพาะเจาะจงที่ไม่มีใน AWS Model (Custom Model) สำหรับการรันอัลกอริทึมบน Cloud นั้น ไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงหรือซื้ออุปกรณ์มาประกอบเอง ผู้ใช้สามารถใช้งานบน Cloud ของผู้ให้บริการต่าง ๆ เช่น AWS ซึ่งมี Trainium และ Inferentia ที่เหมาะกับการรัน ML หรืออัลกอริทึมที่ต้องการทรัพยากรสูง

 

“Prompt Engineer” เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับ Generative AI ทำให้ 

Generative AI เข้าใจสิ่งที่ต้องการและแนวคิดของมนุษย์ 

 

ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นสายงานใหม่ที่มีความต้องการสูงในอนาคต Generative AI ในอนาคตจะไม่มาแย่งงานของมนุษย์ แต่จะมาเป็นผู้ช่วยในสายงานต่าง ๆ ทำให้การทำงานบางอย่างรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความผิดพลาดน้อยลง ตัวอย่างเช่น Code Whisper ที่ช่วยเขียนโค้ดให้กับโปรแกรมเมอร์

 

สรุปได้ว่า AI มีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีจุดเด่นและการใช้งานที่แตกต่างกัน AWS มีบริการ Generative AI ที่ใช้งานง่ายและสะดวก การรันอัลกอริทึมบน Cloud ช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และ Prompt Engineer เป็นสายงานใหม่ที่มีความต้องการสูงในอนาคต Generative AI จะมาเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ในสายงานต่าง ๆ และช่วยทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

 

 

2.Building AWS news summary apps in your local language

ระบบดึงข้อมูลข่าวจะดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น เว็บไซต์สำนักข่าว โซเชียลมีเดีย หรือ RSS feeds ข้อมูลข่าวที่ดึงมาจะอยู่ในรูปแบบข้อความภาษาไทย จากนั้นระบบจะใช้บริการ AWS Bedrock ในการประมวลผลและสรุปเนื้อหาข่าวภาษาไทย โดย Bedrock จะวิเคราะห์เนื้อหาข่าว ดึงประเด็นสำคัญ และจัดทำเป็นสรุปสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้ Bedrock ยังสามารถแปลสรุปข่าวเป็นภาษาอื่นๆ ได้ตามต้องการ

 

ระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้โดยการส่งสรุปข่าวที่ประมวลผลแล้วไปยังผู้ใช้ผ่านแอปพลิเคชันข้อความ ผู้ใช้สามารถอ่านสรุปข่าวได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอ่านเนื้อหาข่าวทั้งหมด และสามารถเลือกรับการแจ้งเตือนเฉพาะหัวข้อข่าวที่สนใจได้

 

โครงสร้างพื้นฐานของระบบถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นและรองรับการใช้งานขนาดใหญ่ โดยใช้บริการ AWS Cloud Platform เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูล จัดเก็บข้อมูล และส่งข้อความแจ้งเตือน ระบบสามารถปรับขนาดทรัพยากรได้ตามความต้องการเพื่อให้สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

ระบบนี้ใช้ต้นทุนต่ำมาก ประมาณวันละ 1 ดอลลาร์ เนื่องจากเป็น Serverless และ Bedrock คิดค่าใช้จ่ายตามคำขอที่เกิดขึ้น ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ Bedrock นี่เอง เมื่อได้ลองทำตามตัวอย่างจาก Showcase ก็พบว่าสนุกและเข้าถึงง่าย 

 

 

 

 

3.Which AWS Certification should I take? How to choose a pathway

AWS มีใบรับรอง (Certificate) ที่รองรับหลายด้าน สามารถเลือกได้ตามความต้องการ โดยการที่จะได้รับใบรับรองนั้นต้องผ่านการสอบตามข้อสอบที่ AWS กำหนดเท่านั้น สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของใบรับรองต่างๆ ได้ในเว็บไซต์ของ AWS (https://aws.amazon.com/certification/) ในเว็บไซต์ AWS จะมีส่วนที่แนะแนวข้อสอบ ซึ่งผู้สอบสามารถเข้าไปเรียนตาม Pathway ของแต่ละเรื่องได้ เพื่อช่วยให้สามารถทำข้อสอบได้ดียิ่งขึ้น

 

ข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นแบบตัวเลือก แต่บางใบรับรองอาจมีการทดสอบแบบ Lab ที่ต้องแก้โจทย์ในข้อสอบ ค่าใช้จ่ายในการสอบอยู่ที่ประมาณ 99 ดอลลาร์ต่อครั้ง หากสอบไม่ผ่าน จะต้องรออีก 2 สัปดาห์จึงจะสามารถขอสอบใหม่ได้ การสอบสามารถทำแบบออนไลน์ได้ แต่ต้องเตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อม โดยจะมีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้วยการเปิดกล้องและดูรอบห้อง ในระหว่างการสอบ ไม่สามารถละทิ้งพื้นที่สอบได้ และต้องรักษาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้เสถียร มิฉะนั้นอาจถือว่าสอบตกและต้องรอสอบใหม่อีก 2 สัปดาห์

 

 

 

 

4.AWS card clash

AWS Card Clash เป็นเกมที่ให้ผู้เล่นแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยการเลือกใช้บริการของ AWS ตามที่ตัวเกมกำหนด ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกการออกแบบและการใช้งานบริการของ AWS ในรูปแบบที่สนุกสนานและไม่เบื่อหน่าย ตัวเกมมี UI ที่สวยงามและน่าเล่นมาก ๆ ทำให้การเรียนรู้และฝึกฝนกลายเป็นเรื่องสนุก ผู้เล่นสามารถเข้าไปเล่น AWS Card Clash ได้ที่เว็บไซต์ของ AWS เพื่อเริ่มต้นการผจญภัยในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทักษะในการใช้งานบริการของ AWS อย่างเต็มที่

 

 

 

 

5.ASK AN EXPERT

Account ของ AWS จะไม่ถูกแยกเป็น Project ทำให้บริการทุกอย่างถูกรวมกันหมดใน Account นั้น ส่งผลให้ยากต่อการแบ่ง Project ในขั้นตอนการบำรุงรักษาและการจัดการ Billing เนื่องจาก Concept ของ AWS คือ หนึ่ง Account เท่ากับหนึ่ง Project

 

อย่างไรก็ตาม AWS มีวิธีการจัดการเรื่องนี้ โดยสามารถใช้ Tag ในการระบุแต่ละ Service เพื่อเสมือนเป็นการแบ่ง Project แยกกัน รวมถึงการจัดการคนดูแลและ Billing แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมี Billing บางส่วนที่ถูกรวมกันอยู่ดี AWS แนะนำว่าควรแยกออกเป็น Organization โดยหนึ่ง Project เท่ากับหนึ่ง Organization ซึ่งการสร้าง Organization นั้นจะต้องใช้หนึ่ง Email ในการสร้าง และต้องไม่ใช้ Email เดียวกับ Owner Account ตาม Concept ของ AWS ที่ว่า หนึ่ง Account หนึ่ง Project แม้ว่าวิธีนี้อาจทำให้สิ้นเปลือง Email บ้าง แต่เป็นวิธีที่ AWS แนะนำ

 

นอกจากนี้ AWS ยังมีบริการ

 Landing Zone เพื่อรองรับการจัดการ Project แยกกัน 

 

สามารถเลือกใช้งานตามความเหมาะสม แต่บาง Service อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเล็กน้อย

 

 

 

 

6.Data Center (in Thailand)

AWS ประกาศตั้งแน่นอนในปี 2025 !! Data Center ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ประเทศไทย โดยใช้โครงสร้างการออกแบบ “Data Center” ที่เหมือนกับที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา (ทาง Section มีแว่น VR ให้ใส่ Tour เพื่อชม Data Center อย่างใกล้ชิด สุดยอดมาก ๆ) Service หลักอย่าง EC2 หรือ S3 จะเริ่มให้บริการตั้งแต่เริ่มต้นและ Service อื่น ๆ จะเข้ามาตามแผนของ AWS ว่าเมื่อไรจะเปิดให้บริการเรื่อย ๆ เรื่องของค่าใช้จ่ายจะลดลงหรือไม่? ต้องติดตามดูในอนาคต

 

 

นี่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของความรู้มหาศาลที่เราได้รับจากงานนี้ ยังมีอีกหลายหัวข้อน่าสนใจที่ไม่ได้พูดถึง ถ้าใครอยากรู้เพิ่มเติม ลองไปค้นคว้าต่อดูได้ มีแหล่งข้อมูลดี ๆ อีกเยอะแยะเลย

 

Deeploy หวังว่าสิ่งที่แบ่งปันไปจะมีประโยชน์สำหรับทุกคนนะครับ ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ช่วยจุดประกายความสนใจได้บ้าง ส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่างานนี้ให้อะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจ อยากให้มีงานแบบนี้จัดขึ้นอีกในอนาคต จะได้มีโอกาสอัพเดตความรู้และเทรนด์ใหม่ ๆ กันต่อไป ใครรู้ ปีหน้าอาจมีเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรให้เราได้เรียนรู้กันอีก

 

ยังไงก็ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านมาถึงตรงนี้นะครับ หวังว่าจะได้พบกันใหม่ในโอกาสหน้า แล้วอย่าลืมเอาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดกันด้วยล่ะ!

Tag